คนโสดกับแอปฯ หาคู่เป็นของคู่กัน โดยเฉพาะช่วงวาเลนไทน์ที่หลายคนก็อยากจะมีคนรักไว้ควงแขนเติมความหวานทดแทนความเหงา แต่ก่อนจะตัดสินใจปัดขวาเพื่อรอ Match กับใคร เรามั่นใจแค่ไหนว่าคนนี้สามารถไว้ใจได้ ไม่ใช่มิจฉาชีพที่แฝงตัวมาลวงหลอกให้รักเพื่อผลประโยชน์บางอย่างแล้วจากไป

จากสารคดี Tinder Swindler ของ Netflix ที่ตีแผ่เบื้องหลังการหลอกลวงของ ไซมอน เลอวีฟ (Simon Leviev) มิจฉาชีพหนุ่มชาวอิสราเอลผู้แปลงโปรไฟล์จากนักต้มตุ๋นประวัติโชกโชนให้เป็นหนุ่มหล่อพ่อรวยรสนิยมไฮเอนด์ เพื่อเป็นเหยื่อล่อให้สาวๆ บนแอปฯ หาคู่มาตกหลุมรักและเชื่อใจ จากนั้นก็ใช้สารพัดวิธีหลอกล่อเพื่อให้เหยื่อโอนเงินมาให้แล้วนำเงินเหล่านั้นไปใช้ปรนเปรอผู้หญิงหรือว่าที่เหยื่อในอนาคตคนอื่นๆ ต่อไปอย่างไม่รู้จบ ซึ่งนอกจากการหลอกลวงผ่านแอปฯ หาคู่แล้ว การหลอกลวงผ่านออนไลน์ในแพลตฟอร์มอื่นๆ อย่างโซเชียลมีเดียต่างๆ ก็มีไม่น้อยเช่นกัน ซึ่งเรียกว่า หลอกรักออนไลน์หรือโรแมนซ์สแกม (Romance Scam)

แล้วเราควรทำอย่างไรเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพบนแอปฯ หาคู่และออนไลน์เดตติ้งต่างๆ ซึ่งทางกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ได้แนะนำวิธีสังเกตและการป้องกันตนเองก่อนโดนหลอกไว้ดังนี้

1. โปรไฟล์เลิศหรู ดูดีไปทุกอย่าง คือหนึ่งในเหยื่อล่ออันดับต้นๆ ที่ใช้ตกผู้คนให้หลงรักมานักต่อนักแล้ว เพราะคนจำนวนไม่น้อยมักจะหลงใหลไปกับคนที่มีคุณสมบัติดังนี้

  • มีรูปร่างหน้าตาดี บุคลิกมีเสน่ห์ น่าหลงใหล
  • มาจากครอบครัวที่ดี มีการศึกษาสูง
  • หน้าที่การงานดี
  • พูดจาดีให้เหยื่อเป็นคนสำคัญ ให้ความเอาใจใส่ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ จนเหยื่อตายใจ

2. หลอกล่อให้เหยื่อเสียทรัพย์และเงินทองโดยใช้ 3 รูปแบบ

  • หลอกว่ากำลังจะได้มรดกแต่ต้องมีค่าใช้จ่าย
  • หลอกว่าส่งสิ่งของมีราคาสูงมากมาให้จากต่างประเทศ แต่ให้เหยื่อเสียค่าส่งหรือค่าภาษีเอง
  • หลอกว่ากำลังเดือดร้อน เพื่อให้เหยื่อสงสารแล้วโอนเงินมาช่วยเหลือ ซึ่งกรณีของไซมอน เลือกใช้วิธีนี้ได้อย่างแนบเนียน

วิธีป้องกันตัวจากมิจฉาชีพบนแอปฯ หาคู่และโรแมนซ์สแกม

  1. ตรวจสอบข้อมูลบุคคลว่ามีตัวตนจริงหรือไม่ ด้วยการนำชื่อมาค้นหาบนกูเกิลหรือโซเชียลมีเดียต่างๆ แล้วดูว่าชื่อและรูปร่างหน้าตาตรงกันกับในแอปฯ หาคู่หรือไม่
  2. ตรวจสอบความน่าเชื่อถือบัญชีโซเชียลมีเดีย เช่น ระยะเวลาการใช้โซเชียลลักษณะการโพสต์กลุ่มเพื่อน รูปภาพส่วนตัว ถ้าหากมีเพื่อนจำนวนน้อยมากและไม่ค่อยมีความเคลื่อนไหวบนโซเชียลมีเดียมากนักให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจเป็นโปรไฟล์ปลอม
  3. อย่าหลงเชื่อและโอนเงินให้ใครที่รู้จักผ่านทางออนไลน์จนกว่าจะมีการตรวจสอบตัวบุคคลได้อย่างชัดเจน
  4. อย่าเชื่อใจหรือไว้ใจคนแปลกหน้าในโลกออนไลน์ และแอปฯ หาคู่
  5. ห้ามให้ข้อมูลส่วนตัว เช่น เลขบัตรเครดิต บัตรเดบิต บัตรเอทีเอ็ม เลขบัญชีธนาคาร รวมถึงเลขบัตรประชาชน กับบุคคลอื่นเด็ดขาด
  6. ห้ามส่งภาพส่วนตัวโดยเฉพาะภาพวาบหวิวต่างๆ ให้กับบุคคลอื่นเด็ดขาด
  7. ไม่ควรใส่ข้อมูลส่วนตัวไว้บนสื่อออนไลน์ เพราะมิจฉาชีพจะนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์และส่งผลเสียต่อเราได้

อย่างไรก็ตาม จุดเริ่มต้นของการถูกหลอกมาจากความไว้เนื้อเชื่อใจจากรูปลักษณ์ภายนอกเป็นหลัก ซึ่งทำให้มีผู้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพเหล่านี้จำนวนมาก สามารถพบได้กับคนทุกเพศทุกวัยไม่จำกัด ดังนั้นสิ่งที่จะเป็นกำแพงป้องกันเราได้อันดับแรกคือควรตรวจสอบคนที่เราสนใจให้ละเอียดถี่ถ้วนทุกครั้ง อย่าหลงเชื่อรูปร่างหน้าตาและคารมใครง่ายๆ เพราะมิจฉาชีพหลายคนก็ทำได้แนบเนียนจนแทบดูไม่ออกเลยทีเดียว.

ขอขอบคุณ – ไทยรัฐ

 

รวมโปรเน็ตทรูสุดแรง คลิก
facebook

#โปรเน็ต #สมัครเน็ต #โปรเน็ตทรู #สมัครเน็ตทรู

 

Pin It on Pinterest

Share This